องค์ประกอบหลักๆ ของการเนรมิตสถาปัตยกรรมชวนฝัน ‘โมรอคโค’ และวิธีลดทอนรายละเอียดเพราะข้อจำกัดฝีมือช่าง
เอกลักษณ์ทางศิลปะและการออกแบบของแต่ละประเทศเต็มไปด้วยเสน่ห์ของเรื่องราวที่หลอมรวมขึ้นจากประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และความเป็นอยู่ของผู้คน ศิลปะและการออกแบบของแต่ละประเทศจึงสร้างความรู้สึกและความประทับใจที่แตกต่างกัน การนำเสน่ห์แห่งการออกแบบของแต่ละประเทศมาใช้ไม่ใช่เพียงการถอดแบบรูปทรงและสีเท่านั้น ศิลปะการออกแบบจากดินแดนชวนฝันอย่าง โมรอคโค ก็สามารถเป็นหนึ่งเดียวกับเสน่ห์ของเมืองท่องเที่ยวชายทะเลอย่าง หัวหิน ได้ด้วยการผสมผสานอย่างกลมกลืน


“ถามถึงหัวหินมองแบบทั่วๆ ไป ผมเรียกว่าเป็นสถานพักผ่อนที่มีที่มาที่ไปจากหมู่บ้านประมงในสมัยก่อน แต่ถ้ามองระดับสูงขึ้นไปอีกคือมองในเชิงที่เป็นที่พักผ่อนของราชนิกูลชั้นสูง ซึ่งสะท้อนมาถึงอาคารที่มีรูปแบบที่เป็นโคโลเนียลหน่อย หรือว่าเรือนไทยสมัยต้นรัตนโกสินทร์ เพราะฉะนั้นมันมีคาแรกเตอร์บางอย่างซึ่งสามารถจะบอกได้ว่านี่คือความเป็นหัวหิน แต่อีกอันหนึ่งคือความรู้สึกที่รู้สึกว่าไปแล้วมันสบายๆ ผ่อนคลาย เป็นความรู้สึกแบบนามธรรมหน่อย ไม่ได้เป็นคาแรกเตอร์ที่ชัดเจนมาก” คุณ พงษ์เทพ สกุลคู จาก August Design Consultant Co.,Ltd. สถาปนิกตกแต่งภายใน มาราเกซ หัวหิน รีสอร์ท แอนด์ สปา (Marrakesh Hua-Hin Resort & Spa) รีสอร์ทสไตล์ ‘นีโอ โมร็อคแคน’ (Neo Moroccan) ริมชายหาดหัวหิน พูดถึงหัวหินในความรู้สึก
ด้านสถาปนิกจาก Palmer & Turner (Thailand) Ltd. (พาล์เมอร์ แอนด์ เทอร์เนอร์ฯ) บอกว่า
“พูดถึงหัวหินจะนึกถึงเมืองตากอากาศที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ถือได้ว่าเป็นเมืองตากอากาศที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย ซึ่งตอนนี้ก็น่าจะเรียกได้ว่าเป็นเป็นสถานที่พักผ่อนติดทะเลที่ติดอันดับความนิยมของประเทศ บรรยากาศของหัวหินจะแตกต่างไปจากเมืองตากอากาศอื่นๆ เช่น พัทยา หรือภูเก็ต เรามองว่ามันมีเสน่ห์ที่แตกต่างออกไป ให้ความรู้สึกผสมผสานระหว่างความเป็นบ้านและเมืองที่มีวัฒนธรรม จะเลือกนอนพักสงบๆ ริมหาดก็ได้ หรือจะหาที่กินที่ซื้อของก็มีครบ


สถาปัตยกรรมของหัวหินก็ค่อนข้างโดดเด่น เนื่องจากสมัยก่อนเป็นที่ตากอากาศของชนชั้นสูงหรือเจ้านายต่างๆ ซึ่งแต่ละคนก็สร้างบ้านพักตากอากาศของตัวเอง อาคารก็ออกแนวครึ่งปูนครึ่งไม้ มีใช้เครื่องไม้ประดับตามแบบที่นิยมของเจ้านายสมัยนั้น จนมาถึงปัจจุบันก็มีการปรับเปลี่ยนไปเป็นโรงแรมที่พักหรือร้านอาหารบ้างแต่เขาไม่ได้ทุบทิ้งแล้วทำใหม่ เขาเอาของเดิมมาปรับปรุงยังคงเก็บลักษณะโดยรวมของอาคารไว้ ซึ่งจุดนี้ทำให้เกิดการผสมผสานกันระหว่างของเก่ากับของใหม่ ทำให้เมืองมีเสน่ห์ในตัวของมันเอง มี Culture ทางงานสถาปัตยกรรมที่ชัดเจน”
ส่วนเอกลักษณ์และเสน่ห์ในการออกแบบของโมรอคโค คุณพงษ์เทพ บอกว่า
“ถ้าเราพูดถึง Moroccan Style ใน Morocco จะค่อนข้างมีคาแรกเตอร์ที่เด่นๆ อยู่สองสามอย่าง อย่างแรกเป็นงานแบบที่เรียกว่าเป็นงานอาราบิค สไตล์ เป็นงานสถาปัตยกรรมที่มีพื้นฐานมาจากอาหรับ สองคือ ความเป็นเมดิเตอร์เรเนียน ในแถบที่ตั้งซึ่งอยู่ทางทวีปแอฟริกา และมีคาแรกเตอร์ซึ่งมาจากของท้องถิ่น เช่น กระเบื้องสี ลวดลาย โครงสี ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นสีออกทรายๆ สีชมพูอมส้ม
..สถาปัตยกรรมของโมรอคโคจริงๆ แล้วมันมีสเน่ห์ ถ้าเป็น Arabian Architecture จริงๆ มันให้ความรู้สึกอลังการ มีรายละเอียดที่เฉพาะตัวมากๆ อีกส่วนหนึ่งที่ผมชอบคือ บรรยากาศของห้องในอาคารแบบนี้มันไม่ได้เป็นสี่เหลี่ยมทื่อๆ หรือไม่ได้เป็นอะไรที่ปกติ จะมีรายละเอียดบางอย่างซึ่งมันคอนโทรลอยู่ รายละเอียดพวกนี้ทำให้งานสถาปัตยกรรมแบบโมรอคโคมีเสน่ห์ บวกกับบรรยากาศแบบเมดิเตอร์เรเนียน มีสวนเมืองร้อน มีน้ำ มีอะไรเข้ามา ให้บรรยากาศของความรู้สึกผ่อนคลาย.. อีกอย่างคือบรรยากาศของแสงที่ผ่านช่อง ผ่านซุ้ม ผ่านโคมไฟ เวลาแสงผ่านออกมาแล้วเกิดเงาบนผนัง พวกนี้คือสัมผัสที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวแบบ Moroccan ซึ่งเราพยายามจะหยิบมาใช้”
ในเชิงสถาปัตยกรรม สถาปนิกจากพาล์เมอร์ฯ บอกว่า
“งานสถาปัตยกรรมของโมรอคโค ก็มี Culture ที่ชัดเจนในตัวของมันเองเช่นกัน มีองค์ประกอบทางงานสถาปัตยกรรมที่เอามาเล่นได้เยอะ ไม่ว่าจะเป็นซุ้มโค้ง การเล่นระดับที่ผนังทึบ ลายฉลุ หรือการเล่นลวดลายเส้นสายของกระเบื้องประดับ รวมถึงสีสันที่สดใสมีชีวิตชีวา”

การผสมผสานเสน่ห์ของหัวหินและโมรอคโคเข้าด้วยกัน คุณพงษ์เทพ บอกว่า
“เรานำคาแรกเตอร์หลักๆ มาใช้.. ไม่ได้เป็น Real Moroccan เป็น Moroccan ที่เรียกว่า Contemporary Moroccan เพราะฉะนั้นความรู้สึกที่เราจะทำโครงการของมาราเกซ เราคิดว่าอยากให้มีกลิ่นอายของ Moroccan ผสมอยู่ในงาน แต่บรรยากาศรวมๆ อยากให้มันสบายๆ จับสองอันนี้มาผสมกัน โดยที่มี Touch ของ Moroccan นี้อยู่ทั่วๆไปในแต่ละพื้นที่ ซึ่งไม่เท่ากัน แต่ภาพรวมก็เป็นความร่วมสมัยของการออกแบบ ไม่ได้เป็น Real Moroccan”
“มันคือโมรอคโคในรูปแบบใหม่ คือเราไม่ได้เอาสไตล์ของโมรอคโคมาใช้ทั้งหมด เราดึงเอาจุดเด่นๆ มา เช่นพวกซุ้มประตู ลวดลายของกระเบื้อง การใช้สีสัน ลายฉลุ แล้วนำมาปรับใช้ในบางจุดเพื่อสร้างจุดเด่น แต่ส่วนใหญ่แล้ว Background ก็จะดูเรียบง่ายแต่ก็ยังมีกลิ่นอายของโมรอคโคอยู่.. ” สถาปนิกจากพาล์เมอร์ฯ กล่าวเสริม
คุณพงษ์เทพ ยกตัวอย่างการออกแบบห้องพักของมาราเกซ ให้ฟังว่า
“ห้องพักเราไม่ได้ใช้แบบ Real Moroccan จริงๆ เราแค่หยิบมา เช่น รูปทรงโค้ง และบรรยากาศโดยเฉพาะห้องส่วนที่เปิดประตูเข้าไปเราอยากให้มันดูลึกลับ มืดๆ นิดหนึ่ง ซึ่งจะแตกต่างจากโรงแรมทั่วๆ ไป ปกติโรงแรมทั่วไป ที่นี่เราตั้งใจที่จะให้มันดูขรึม ขลัง และดูมีบรรยากาศที่ลึกลับนิดหนึ่ง เราเลยคุมให้สีมันมืดๆ ด้วยการใช้กระเบื้องโมเสกมากรุ แต่โมเสกที่ว่าไม่ได้เป็นโมเสกที่มาจากโมรอคโคเป็นโมเสกสมัยใหม่ เราดึงโครงสีของโมรอคโคมาใช้เท่านั้นเอง แล้วเอาโคมที่เป็น Real Morocco มาผสม.. แต่พอผ่านจากพื้นที่ที่เป็นห้องน้ำเข้ามาถึงห้องนอน ผมอยากให้มัน Contrast ซึ่งมันได้ความรู้สึกแบบสบายๆ กันเอง อยากให้มันสว่างก็กลายเป็น Contemporary กลายเป็นห้องขาวๆ สบายๆ ซึ่งจะไม่เหมือนโรงแรมที่เป็นสไตล์โมรอคโคจริงๆ “
สถาปัตยกรรมของมาราเกซอยู่ในโทนสี ชมพูอมส้ม สถาปนิกจากพาล์เมอร์ฯ ให้เหตุผลว่า
“เนื่องจากแนวคิดของโครงการมาจากเมืองมาราเกซ ซึ่งถ้าพูดถึงเมืองนี้ใครๆ ก็จะนึกถึง Pink City หรือเมืองสีชมพู เพราะทั้งเมืองอาคารจะออกเป็นสีชมพูส้มๆ ไปทั้งเมือง เราเลยเอาจุดนี้มาใช้โดยสีหลักที่ใช้สำหรับอาคารคือ สีชมพูอมส้ม แล้วมีการตัดด้วยลวดลายและสีอื่นๆ เป็นบางส่วน”
ส่วนของห้องพักของมาราเกซมี 2 โทนสีที่ถูกนำมาใช้ในการออกแบบ คือ ‘สีส้ม’ และ ‘สีน้ำเงิน’ คุณพงษ์เทพ อธิบายว่า
“ถ้าพูดในเชิงนามธรรมคือเป็นกลางวันกับกลางคืน ในโลกอาหรับมีความเชื่อเรื่องกลางวันกลางคืน เราก็หยิบน้ำเงินเป็นตัวแทนของภาคกลางคืน สีโทนส้มเป็นโทนกลางวัน มีภาคกลางวันกลางคืนในเชิงอาหรับ ในเชิง Moroccan เองสีพวกนี้เป็นสีที่เราเห็นได้ทั่วไปในประเทศโมรอคโคซึ่งมันมาจากสีดิน สีน้ำเงินก็เป็นสีของกระเบื้อง เป็นสีที่คาแรกเตอร์ชัดเจนที่สุดเราเลยหยิบเอามาใช้”
ลวดลายที่นำมาใช้ในโครงการนี้เป็นลวดลายที่ถูกตัดทอนลงเพื่อความเหมาะสมในการใช้งาน
“เราตัดทอนลงไปทำให้มันทำงานง่ายขึ้น เพราะถ้าเราทำแบบโมรอคโคจริงๆ ช่างเราทำไม่ได้ เราแทบจะต้องยกเอาทั้งแผงมาเลย แต่ความที่เราทำในประเทศเราและไม่ได้ต้องการทำแบบนั้นอยู่แล้วเราก็เลยแค่เอากลิ่นอายนิดเดียวมาทำให้มันง่ายขึ้น”
เสน่ห์ของโมรอคโคที่ถูกนำมาใช้ในการออกแบบยังรวมถึง ‘บรรยากาศ’ ด้วย
“ซุ้มทางเข้าล็อบบี้ของโครงการจะเป็นซุ้มขนาดใหญ่ ให้ความรู้สึกเหมือนกำลังจะเข้าไปในสถานที่สำคัญสมัยโบราณ ซึ่งลักษณะของซุ้มแบบนี้เราจะมีการใช้ในส่วนของ Public area ของโครงการ เพียงแต่มีการย่อขนาดลงให้เหมาะกับแต่ละพื้นที่” สถาปนิกจากพาล์เมอร์ฯ บอก
คุณพงษ์เทพ อธิบายว่า “สถาปัตยกรรมในประเทศแถบนั้นส่วนใหญ่ความที่มันเป็นเขตร้อน เมดิเตอร์เรเนียน ก็จะมีเสียงน้ำ มีน้ำพุ เรียกว่าเป็นคาแรกเตอร์หลักของงาน เราก็หยิบเอาบรรยากาศอันนั้นจำลองเข้ามาในพื้นที่ที่เรามีอยู่เพื่อสร้างอารมณ์ความรู้สึกแบบนี้ โดยที่ตัดทอนบรรยากาศตัดทอนรายละเอียดลงมาเพื่อให้มันเหมาะสมแล้วยกมาลงในพื้นที่นั้น ตั้งแต่ทางเข้าไปจนถึงน้ำพุ ผ่านเข้าไปตรง Main Bar ที่เป็น Check in Reception ต้องยอมรับว่าโครงการนี้มีข้อจำกัดเรื่องพื้นที่นิดหนึ่ง มันไม่ได้มีล็อบบี้ใหญ่โตอะไรแต่ก็ให้ความรู้สึกที่แปลกออกไปดี คือค่อนข้างเป็นกันเอง ดูสบายๆ ไม่เหมือนล็อบบี้โรงแรมอื่นที่ใหญ่โตมโหฬาร เราก็พยายามทดแทนด้วยฝ้าที่มันสูงหน่อย
..ผมคิดว่าเป็นบรรยากาศในเชิงนามธรรมมากกว่าที่จะเป็นเชิงการตกแต่ง คงเป็นความรู้สึกสบายๆ โครงสีบางส่วนที่สะอาดๆ หน่อย รูปแบบเฟอร์นิเจอร์ที่ผสมผสาน ไม่ได้เป็นท้องถิ่นมากแล้วก็ไม่โมเดิร์นเกินไป”
พื้นที่ซึ่งมีการออกแบบที่แตกต่างออกไปคือ สปา
“สปาเราอยากให้มันร่วมสมัยขึ้น ให้ดูเป็น Modern Spa หน่อย ไม่ได้เป็น Moroccan จ๋ามาก มีสัมผัสนิดๆ เท่านั้นเอง แต่เราก็ยังต้องการคอนโทรลบรรยากาศให้มันดูลึกลับหน่อย จะเห็นว่าเป็นซอกทางเดินคือเข้าไปแล้วไม่ได้เห็นหมดเลยทีเดียวสว่างไสว จะค่อยๆ ค้นหาไป และบรรยากาศของแสงสว่างเราก็อยากให้มันไม่สว่างเกินไป ลึกลับนิดๆ ซึ่งจริงๆ ที่โมรอคโคก็เป็นอย่างนั้น.. เราอยากให้มี Gimmick ให้คนเข้ามาแล้วจำได้ว่าเป็นสปาที่นี่ไม่มีทางเป็นสปาที่อื่นไปได้ ก็มีลูกเล่นนิดๆ หน่อยๆ มีช่องใส่ไฟ เพื่อให้เป็น Unique Point ของ Space นั้นๆ ”
การออกแบบพื้นที่ใช้สอยเป็นไปเพื่อตอบสนองการพักผ่อนอย่างเต็มที่
“..พื้นฐานจะเหมือนๆ กัน ต่างกันตรงโครงสีและวิธีการวางเตียงเท่านั้นเอง จะมีสิ่งอำนวยความสะดวกที่โรงแรมระดับดีควรจะมี คือมีอ่างอาบน้ำที่ Over Size มี Separated Shower มีส่วนพักผ่อนทั้งด้านในด้านนอก มีตู้เสื้อผ้าที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่เมื่อเทียบกับโรงแรมโดยทั่วไป อ่างล้างหน้าก็มีขนาดใหญ่พอสมควร สิ่งอำนวยความสะดวกมากกว่าโรงแรมปกติ เราให้แม้กระทั่ง Dressing Area ด้วยซ้ำไป.. ห้องมุมจะได้ระเบียงเพิ่มขึ้นมา มี Bay Window ซึ่งชมทิวทัศน์ได้สองด้านเป็นจุดขายที่เพิ่มขึ้นมาจากห้องธรรมดา.. ห้องด้านหน้าหันหน้าออกทะเล มีห้อง Duplex อยู่ชั้นบนมี Private Terrace ข้างบน..” คุณพงษ์เทพ บอก
“ในส่วนของห้องพัก ระเบียงจะค่อนข้างกว้าง สามารถนั่งเล่นนอนเล่นได้อย่างสบาย เราออกแบบให้ประตูเลื่อนที่ออกสู่ระเบียง มีขนาดใหญ่ เปิดมุมมองออกสู่ภายนอกได้โล่งขึ้น” สถาปนิกจากพาล์เมอร์ฯ กล่าว
การทำงานร่วมกันระหว่าง สถาปนิก สถาปนิกตกแต่งภายใน และภูมิสถาปัตย์ คุณพงษ์เทพ บอกว่า
“เราพยายามจะให้แรงบันดาลใจซึ่งกันและกัน ตอนแรกอาคารก็ออกมาคล้ายๆ คอนโดมิเนียม (มาราเกซ หัวหิน เรสซิเดนท์ : Marrakesh Hua Hin Residences) แล้วก็ค่อยๆ เกลา.. ภาษาของสถาปัตยกรรม ภาษาของอาคารก็เหมือนกัน ก็พยายามตัดทอนและพยายามเก็บคาแรกเตอร์บางอย่างมาใช้ เราต้องพยายามสื่อสารกัน.. เพื่อที่จะให้มันได้อย่างที่เราอยากจะได้ ทำงานร่วมกันจริงๆ ก็ต้องทำงานใกล้ชิดกันตั้งแต่ต้น”
“เรื่องของงานภูมิสถาปัตยกรรมที่ออกแบบโดยบริษัท Green Architects Co.,Ltd ต้องยอมรับเลยว่าช่วยส่งเสริมตัวอาคารและบรรยากาศโดยรวมของโครงการให้ดูโดดเด่นและน่าประทับใจได้มากจริงๆ ” สถาปนิกจากพาล์เมอร์ฯ บอก
การจะนำรูปแบบทางสถาปัตยกรรมและการออกแบบของประเทศหนึ่งมาใช้ในอีกประเทศหนึ่งได้อย่างเหมาะสมและกลมกลืน คุณพงษ์เทพ บอกว่า
“มันเป็นเทคนิคเฉพาะตัว.. แล้วแต่การตีความของแต่ละคน บางคนอาจจะชอบในเชิงของตกแต่งก็เอาของตกแต่งมาใส่เลย บางคนชอบอาคารชอบสถาปัตยกรรมก็พยายามจะทำอย่างนั้น แต่ความที่เราทำงานเรื่องนี้โดยตรงเรารู้ว่าข้อจำกัดของเราคืออะไร ไปได้แค่ไหน งานช่างไปได้แค่ไหน ทำอะไรได้แค่ไหน เพราะฉะนั้นเราสามารถที่จะวิเคราะห์ก่อนล่วงหน้าว่า เราจะหยิบมาใช้แค่ไหนพอ เรารู้ขีดความสามารถของช่าง ของงบประมาณของอะไรก็แล้วแต่ เราเลือกที่จะไปทิศทางแบบนี้ ซึ่งมันจะไนในช่องที่ไม่เหมือนใคร เป็นทิศทางเฉพาะตัวซึ่งผมว่ามันก็เป็นทางเลือก คือมีคนชอบสไตล์นี้เยอะนะในบ้านเรา แต่ชอบแบบจริงจังไหม หรือว่าเอาแค่กลิ่นอาย บางคนอาจจะชอบบรรยากาศจริงๆ เลย แต่พอไปเห็นบางที่แล้วก็ผิดหวังเพราะว่ามันไม่ใช่อะไรแบบนี้ แต่บางคนก็ชอบสไตล์แต่พอไปอยู่จริงๆ แล้วก็ไม่ค่อยสบาย เพราะฉะนั้นผมพยายามจะประมวลเรื่องพวกนี้แล้วเอามาผสมผสานทำมันออกมาในภาษาใหม่ นี่เป็นสิ่งที่ผมพยายามจะทำ”
ด้วยความสามารถของบรรดานักออกแบบ ความงดงามจึงไม่ได้ถูกจำกัดอยู่เพียงพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งอีกต่อไป แต่สามารถส่งต่